การที่จะให้คอมพิวเตอร์ทำการประมวลผลได้นั้นจะต้องมีชุดคำสั่งทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานเรียกว่า โปรแกรม (Program) หรือ ซอฟท์แวร์ (Software) โดยที่โปรแกรมนั้นถูกเขียนลงบนสื่อบันทึกข้อมูล หรือป้อนผ่านทางแป้นพิมพ์เข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องทำงานตามโปรแกรม การเขียนโปรแกรมต้องเขียนด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ ซึ่งในปัจจุบันภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับเขียนโปรแกรมมีอยู่มากมายหลายชนิด และแต่ละภาษาจะมีลักษณะ วิธีการเขียนโปรแกรม และข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกันไปทั้งนี้ก็เพื่อให้เหมาะสมกับงานด้านต่างๆ นั่นเองฉะนั้น ผู้เขียนโปรแกรม (Programmer) จะต้องมีความเข้าใจถึงกฎเกณฑ์ และวิธีการเขียนโปรแกรมเป็นอย่างดี ประเภทของภาษาคอมพิวเตอร์ปัจจุบันมี 3 ประเภท
–ภาษาเครื่อง (Machine Language)
–ภาษาระดับต่ำ (Low – Level Language)
–ภาษาระดับสูง (High – Level Language)
1. ภาษาเครื่องจักร (Machine Language)
เป็นภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้โดยตรงซึ่ง การเขียนคำสั่งให้กับคอมพิวเตอร์เป็นภาษาเครื่องนั้นยากต่อการเข้าใจ องค์ประกอบของภาษาเครื่องจะประกอบด้วยเลข 0และ1 หรือระบบเลขฐานสอง (Binary System) เมื่อส่งผ่านให้คอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้ โปรแกรมที่ได้จากภาษานี้จึงเป็นกลุ่มรหัสคำสั่งของตัวเลขล้วน ๆ ที่เรียงต่อกันดังนั้นโปรแกรมภาษาเครื่องจึงมีความยุ่งยากเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากอยู่ในรูปแบบหรือสัญลักษณ์ที่เราไม่คุ้นเคย
ข้อดีของภาษาเครื่อง คือ กินเนื้อที่ความจำน้อย เมื่อคำสั่งนี้เข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถสั่งการทำงานได้ทันที จึงมีความรวดเร็วสูง
ข้อเสียของภาษาเครื่อง คือ ยากต่อการเรียนรู้และการจดจำ ดังนั้นจึงทำให้ยากต่อการสร้างหรือการพัฒนาซอฟท์แวร์
2. ภาษาระดับต่ำหรือภาษาแอสเซมบลี (Low – Level Language)
เป็นภาษาที่ใกล้ภาษาเครื่องหรือเครื่องเข้าใจง่าย โดยมากจะเป็นคำย่อที่วิศวกรคอมพิวเตอร์กำหนดขึ้นเพื่อให้ทำงานได้เร็วมากขึ้นกว่าการใช้ภาษาเครื่อง
ภาษาระดับต่ำ (Low – Level Language) มีใช้เพียงภาษาเดียว คือ ภาษาแอสเซมบลี (Assembly Language) เป็นภาษาที่ใช้สัญลักษณ์แทนการใช้รหัสตัวเลขที่ใช้ในภาษาเครื่องทำให้การเขียนโปรแกรมมีความสะดวกและง่ายขึ้น
แต่เนื่องจากคอมพิวเตอร์สามารถรับรู้ได้หรือเข้าใจได้เพียงภาษาเดียวคือภาษาเครื่องดังนั้น จึงต้องทำการแปลจากภาษาแอสเซมบลีให้เป็นภาษาเครื่อง (Machine Language) เสียก่อน จึงจะสามารถนำไปใช้ควบคุมคำสั่งการให้เครื่องทำงานได้ โดยใช้ระบบโปรแกรมแปลภาษาซึ่งเรียกว่า Translator Program โปรแกรมแปลภาษาของแอสเซมบลีจะมีชื่อเฉพาะของมันว่า แอสเซมเบลอร์ (ASSEMBLER)
ข้อดีของภาษาแอสเซมบลี คือ เป็นภาษาที่ทำงานเร็วกว่าภาษาอื่น (ยกเว้นภาษาเครื่อง) สามารถเขียนโปรแกรมควบคุมคำสั่งการตัวเครื่อง (HARDWARE) ได้โดยตรงและกินที่เนื้อที่หน่วยความจำน้อย
ข้อเสียของภาษาแอสเซมบลี คือ ยากต่อการเรียนรู้และยากต่อความเข้าใจสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านฮาร์ดแวร์มาก่อน นอกจากนี้ ยังเป็นภาษาที่ผูกพันหรือขึ้นกับตระกูลหรือชนิดของเครื่องด้วย
3. ภาษาระดับสูง (High – Level Language)
ภาษาระดับสูงเป็นภาษาที่มีลักษณะหรือรูปแบบใกล้เคียงกับสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่มนุษย์คุ้นเคย (เช่นอยู่ในรูปแบบหรือคำในภาษาอังกฤษและสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ซึ่งเหมือนกับที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน) ดังนั้น จึงทำให้สะดวกต่อการเรียนรู้และใช้งานมากขึ้น จึงเป็นภาษาที่นิยมใช้อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน
ข้อดีของภาษาระดับสูง คือเป็นภาษาที่ไม่ผูกพันหรือขึ้นตรงกับตัวเครื่อง ดังนั้นผู้เขียนโปรแกรมสามารถเขียนได้อย่างอิสระภายใต้กฎเกณฑ์ของภาษานั้น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางฮาร์ดแวร์ ก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ จะอย่างไรก็ตาม ภาษาระดับสูงเมื่อจะนำไปใช้ควบคุมสั่งการเครื่องก็ต้องนำไปแปลเป็นภาษาเครื่องก่อนเช่นเดียวกัน โปรแกรมที่ใช้แปลภาษาระดับสูงให้เป็นภาษาเครื่องเรียกว่าคอมไพเลอร์(Compiler)หรืออาจใช้โปรแกรมที่ใช้แปลภาษาระดับสูงให้เป็นภาษาเครื่องอีกประเภท
ที่เรียกว่า อินเตอร์พริทเตอร์ (Interpreter) ภาษาระดับสูงมีดังนี้
– ภาษาปาสคาล (PASCAL)
– ภาษาฟอร์แทรน (FORTRAN)
– ภาษาอารืพีจี (RPG)
– ภาษาซี (C)
– ภาษาโคบอล (COBOL)
– ภาษาเบสิก (BASIC)
– ภาษาพีแอลวัน (PL/1)
– ภาษา Python
( ภาษา Python นั้นกำเนิดขึ้นในปลายปี 1980 และการพัฒนาของมันนั้นเริ่มต้นในเดือนธันวาคม 1989 โดย Guido van Rossum ที่ Centrum Wiskunde & Informatica (CWI) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เนื่องในผู้ประสบความสำเร็จในการสร้างภาษา ABC ที่มีความสามารถสำหรับการ exception handling และการติดต่อผสานกับระบบปฏิบัติการ Amoeba ซึ่ง Van Rossum นั้นเป็นผู้เขียนหลักของภาษา Python และเขาทำหน้าเป็นกลางในการตัดสินใจสำหรับทิศทางการพัฒนาของภาษา Python
หลังจากคุณได้เสร็จสิ้นบทเรียนของภาษา Python นี้ คุณจะรู้จักกับภาษา Python และโครงสร้างของภาษา และคุณจะสามารถเขียนโปรแกรมด้วยภาษา Python ตั้งแต่การสร้างแอพพลิเคชันอย่างง่ายไปจนถึงโปรแกรมการคำนวณที่ซับซ้อน และเข้าใจหลักการที่สำคัญในการเขียนโปรแกรมทั้งในพื้นฐานและในขั้นสูงที่เป็นการเขียนโปรแกรมแบบเชิงวัตถุ เราจะพาคุณติดตั้งภาษา Python และแนะนำให้คุณรู้จักกับเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาโปรแกรมอย่างเช่น IDLE ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้คุณสามารถนำไปพัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรมภาษา Python ของคุณในขั้นสูงต่อไป เช่น การพัฒนาเว็บไซต์ การสร้างเกม ฐานข้อมูล เน็ตเวิร์ค การจัดการกราฟฟิค เป็นต้น )